กระบวนท่าของ นายอดิศร เพียงเกษ ต่อพรรคก้าวไกล สามารถ “เข้าใจ” ได้
เข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงเริ่มต้นด้วย “การปฏิเสธ” และตามมาด้วยการขุดค้นจุดอ่อนและความบกพร่องให้ได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเด่นชัด
ไม่ว่าตอนเลือก “ประธานสภา” ไม่ว่าเสื้อผ้าของ “หมออ๋อง”
ยิ่งเมื่อมีข่าวพรรค
ก้าวไกลเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ยิ่งมีความชัดเจน
ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลน่าจะทุลักทุเล
ท่วงทำนองของ นายอดิศร เพียงเกษ ยืนยันแนวทางของ “ประธานวิปรัฐบาล”
เพราะว่าพรรคก้าวไกลคือฝ่ายตรงกันข้าม นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน”
การมองอย่างเหยียดๆ ต่อ “ฝ่ายค้าน” จึงปรากฏ
ทั้งมิได้ปรากฏอย่างธรรมดา หากแต่ปรากฏในเชิง “สบประมาท” ว่าฝีมือในการค้านของพรรคก้าวไกลน่าจะอ่อนกว่าของพรรคประชาธิปัตย์
บทสรุปยกย่อง “ประชาธิปัตย์” เช่นนี้ก็เข้าใจได้เช่นเดียวกัน
ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เด่นดังเพราะบทบาท ในฐานะเป็น “ฝ่ายค้าน”
สะสมความจัดเจนตั้งแต่ยุค นายควง อภัยวงศ์ รับรู้อย่างยิ่งในยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่อเนื่องถึงยุค นายชวน หลีกภัย ยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รู้ดี รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา รู้ดี
แต่ถามว่าเมื่อพรรคอนาคตใหม่ปรากฏในเดือนมีนาคม 2562 พรรคก้าวไกลปรากฏในเดือนพฤษภาคม 2557 ความโดดเด่นยังเป็นของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
“คำตอบ” ไม่น่าจะนานจนเกินรออย่างแน่นอน
ถามว่าปัจจัยอะไรทำให้สังคมมี “ความหวัง” ต่อการปรากฏขึ้นของ “พรรคก้าวไกล”
ตอบได้เลยว่า จากผลงานการเป็น “ฝ่ายค้าน” เพียง 4 ปี พรรคก้าวไกลก็ทะยานขึ้นมาเป็นพรรคอันดับ 1 เหนือพรรคเพื่อไทย เหนือพรรคประชาธิปัตย์
นี่ย่อมเป็นจุดที่ทำให้ต้องรอคอยอย่างระทึกยิ่ง